การรักษารากฟัน
เมื่อคนไข้มีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง มักเกิดจากการติดเชื้อ และอักเสบภายในโพรงประสาทฟัน ทางเลือกในการรักษามี 2 วิธีคือ การถอนฟันซี่ที่ปวด และการรักษารากฟัน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเก็บรักษาฟันแท้ซี่ที่ปวดไว้อยู่โดยไม่ต้องสูญเสียฟัน ทำให้การบดเคี้ยวเหมือนดังเดิม รวมถึงมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการถอนฟัน และใส่ฟันปลอมบางชนิด อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นใจ และเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้น
การรักษารากฟันคืออะไร
การรักษารากฟัน คือการรักษา “โพรงประสาทฟัน” เป็นการกำจัดเส้นเลือด เส้นประสาทฟัน และเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ อักเสบ และเป็นหนองออก ทำให้อาการเจ็บปวดหายไป ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันจะมีลักษณะคล้ายกับฟันในปากซี่อื่น ๆ คือมีเบ้ากระดูกยึดให้ฟันมั่นคงแข็งแรง เพียงแต่ไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบภายในโพรงประสาทฟัน จนทำให้เกิดอาการปวดฟัน เกิดจากการปล่อยให้ฟันผุเป็นเวลานาน และไม่ได้รับการรักษา หรือเกิดจากฟันแตก ฟันหัก ฟันร้าว จากการบดเคี้ยวอาหารหรืออุบัติเหตุ ทำให้เชื้อแบคทีเรียในน้ำลายเข้าไปในโพรงประสาทฟัน และทำอันตรายต่อประสาทฟัน รวมถึงเป็นโรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง และฟันถูกกระแทกอย่างแรง ทำให้ส่วนปลายประสาทฟันตาย เกิดการอักเสบ เป็นหนองที่รากฟัน และทำให้เกิดอาการปวดฟันตามมา
อาการบ่งชี้ว่าควรรักษารากฟัน
- ปวดเป็นระยะ เป็น ๆ หาย ๆ
- ปวดอย่างรุนแรงจนกระทั่งนอนไม่หลับ
- มีอาการเหงือกบวม มีน้ำหนองไหลจากฟันที่ติดเชื้อ หรือมีตุ่มหนองขึ้นบนเหงือก
- ปวดมากขึ้นเมื่อเคี้ยวอาหารหรือฟันกระทบกัน
- ใบหน้าบวม
- ฟันมีสีคล้ำผิดจากฟันซี่อื่น
- มีอาการเสียวฟันมากเวลาทานของเย็นหรือของร้อน
- ในบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เตือนให้รู้ล่วงหน้า รู้ตัวอีกทีฟันโยกแล้ว
หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจและเอกซเรย์ฟัน เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ขั้นตอนการรักษารากฟัน
- ทันตแพทย์วินิจฉัยและเตรียมฟัน โดยทันตแพทย์จะเอ็กซเรย์ฟันซี่ที่จะทำการรักษา เพื่อตรวจดูลักษณะและรูปร่างของรากฟัน
- ขั้นตอนการรักษารากฟัน ทันตแพทย์จะฉีดยาชา เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองระหว่างการรักษา เมื่อคนไข้รู้สึกชาแล้ว ทันตแพทย์จะกรอเปิดโพรงประสาทฟัน โดยใช้เครื่องมือเจาะตรงส่วนบนของฟัน
- จากนั้นทันตแพทย์จะวัดความยาวรากฟันและขยายโพรงประสาทฟันให้กว้างขึ้น
- ทำความสะอาดโพรงประสาทฟัน โดยการนำเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายเข็ม สอดเข้าไปในโพรงประสาทฟันเพื่อนำเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก แล้วล้างทำความสะอาดรากฟันด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ และใส่ยาฆ่าเชื้อไว้ในรากฟัน เมื่อเสร็จขั้นตอนแล้วจึงอุดปิดโพรงประสาทฟันชั่วคราว
- หากมีปัญหาที่ฟันหน้าจะใช้เวลาทำความสะอาดไม่นานเนื่องจากมีรากฟันเพียงรากเดียว แต่สำหรับฟันกรามต้องใช้เวลาในการทำความสะอาดค่อนข้างนาน เพราะมีจำนวนรากฟันมากกว่า ดังนั้น ในขั้นตอนการทำความสะอาดโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์อาจจะต้องนัดมาทำหลายครั้ง จนกว่าจะทำความสะอาดได้ครบหมดทุกราก
- หลังจากทำการรักษารากฟันแล้ว คนไข้ไม่มีอาการปวดฟันที่ทำการรักษา ทันตแพทย์จะทำการอุดภายในรากฟันให้แน่นและเต็มด้วยวัสดุอุดรากฟัน
- จากนั้นจึงทำการบูรณะฟันและตกแต่งฟันให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดีดังเดิม
การปฏิบัติตนภายหลังการรักษารากฟัน
- หลังการรักษา 2-3 วันแรก อาจรู้สึกปวดฟันหรือเสียวฟันเล็กน้อย ทันตแพทย์จะให้ทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ และอาการปวดหรือเสียวฟันจะค่อย ๆ หายไปได้เอง
- อย่าเพิ่งเคี้ยวหรือกัดอาหารด้วยฟันซี่ที่รักษารากฟัน ควรรอให้ฟันฟื้นตัวเป็นปกติดีก่อน
- ถ้ารู้สึกว่ามีวัสดุอุดฟันทั้งก้อนหลุดออกมา ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ
- ดูแลทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารเหนียวหรือแข็ง เพราะอาจทำให้ฟันแตกได้
- หากพบอาการผิดปกติ เช่น ปวดเกิน 2 วัน บวมมากผิดปกติ หรือกลับมามีอาการคล้ายเดิมที่ยังไม่รักษารากฟัน หรือรู้สึกว่าเคี้ยวไม่เสมอกัน สบฟันไม่พอดี ควรรีบมาพบทันตแพทย์
การรักษารากฟัน คือ การกำจัดเส้นเลือด เส้นประสาทฟัน และเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก ดังนั้น ภายหลังการรักษาจึงไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ อีก แต่ฟันอาจมีความเปราะบางและแตกหักได้ง่าย เพราะไม่มีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยงให้ฟันยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องใส่ครอบฟันหลังจากฟันซี่นั้นได้รับการรักษารากฟันแล้ว
ฟันที่รับการรักษารากฟันจะอยู่ได้นานเท่าใด
ฟันที่ได้รับการรักษาหรือฟื้นฟูสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต ถ้าหากดูแลอย่างเหมาะสม รักษาสุขอนามัยในช่องปาก และฟันอย่างถูกต้อง แต่ถ้าหากไม่ดูแลฟันที่ทำการรักษาแล้ว ก็สามารถกลับมาผุได้อีก